JOBShopThai
หางานที่ชอบ ช้อปงานที่ใช่

กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร

07 สิงหาคม 2566


กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม เป็นสิ่งที่พนักงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม เมื่อเรามีการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่พนักงานตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยความแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทน กับ กองทุนประกันสังคม มีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ การส่งเงินสมทบ สาเหตุของการเกิดสิทธิ สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง วันนี้น้องจ๊อบรวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจมาให้แล้วไปอ่านกันเลย

 

กองทุนเงินทดแทน

ส่งเงินสมทบโดย นายจ้างเพียงฝ่ายเดียว

คุ้มครองเฉพาะกรณีการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน

ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์

ค่ารักษาพยาบาล

- จ่ายตามจริงไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง

- ถ้าอุบัติเหตุมีความรุนแรงหรือมีอาการเรื้อรัง จ่ายค่ารักษาให้อีก 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท

ค่าทดแทนรายเดือน

เงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน โดยจะไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน

ค่าทำศพ

จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ 50,000 บาท

ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

- ค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัด จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 24,000 บาท

- ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

 

กองทุนประกันสังคม

ส่งเงินสมทบโดย รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง

คุ้มครองลูกจ้างใน 7 กรณี ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน

ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์

ค่ารักษาพยาบาล

เจ็บป่วยปกติ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD)  

ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน

- กรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลรัฐ:

ผู้ป่วยนอก (OPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ผู้ป่วยใน (IPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์  

- กรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเอกชน:

ผู้ป่วยนอก (OPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท หรือ เกิน 1,000 บาทได้ หากมีการตรวจรักษาตามรายการในประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ ผู้ป่วยใน (IPD) กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท และสำหรับกรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง และค่าอาหาร ได้รวมไม่เกินวันละ 4,500 บาท ผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ค่ายา และค่าอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่าเอกซเรย์ เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท  

ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต

เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์  

ทันตกรรม

- ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รับค่าบริการทางการแพทย์ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 900 บาท/ปี - ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมตามที่จ่ายจริง โดย 1-5 ซี่ จะได้รับเงินไม่เกิน 1,300 บาท และมากกว่า 5 ซี่ ขึ้นไป จะได้รับเงินไม่เกิน 1,500 บาท - ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก กรณีฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 2,400 บาท และกรณีฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง ไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

กรณีคลอดบุตร

- ผู้ประกันตนหญิง ได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ไม่จำกัดสถานพยาบาลและจำนวนครั้ง พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (สำหรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง)

- ผู้ประกันตนชาย ซึ่งมีภรรยาที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท

- เบิกค่าตรวจและฝากครรภ์ ได้สูงสุด 1,500 บาท

กรณีทุพพลภาพ

เงินทดแทนการขาดรายได้

- ทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 30% หรือในส่วนที่ลดลง ไม่เกิน 30% ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ไม่เกิน 180 เดือน

- ทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ตลอดชีวิต

กรณีเสียชีวิต

- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท

- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน พร้อมรับค่าทำศพ 50,000 บาท

กรณีชราภาพ

เงินบำนาญชราภาพ คือ เงินที่ทยอยจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

- จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน  

เงินบำเหน็จชราภาพ คือ เงินที่จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว

- จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะในส่วนของผู้ประกันตน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พร้อมผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

- กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาท/เดือน โดยต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ครั้งละไม่เกิน 3 คน
กรณีว่างงาน

- กรณีถูกเลิกจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน

- กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 1 มี.ค. 63 – 28 ก.พ. 65)

- กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

 

หากเพื่อน ๆ มีคำถามสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506

 

ขอขอบคุณที่มาจาก

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน


บทความล่าสุด

5 อันดับ บทความยอดนิยม