ในวันที่ทำงานเหนื่อย เครียด หรือมีเรื่องให้คิดมาก หลายคนอาจเลือกที่จะหาของกินเพื่อปลอบใจ ทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่พฤติกรรมการกินเพราะอารมณ์อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ในระยะยาว ลองสำรวจตัวเองดูว่า เราเผลอทำแบบนี้บ้างหรือไม่
การกินด้วยอารมณ์ คืออะไร
การกินด้วยอารมณ์ (Emotional Eating) คือ การกินเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เป็นการกินเพื่อเติมเต็มทางความรู้สึกมากกว่าการเติมเต็มกระเพาะอาหาร หลายคนเลือกใช้การกินเป็นเครื่องมือคลายเครียดชั้นดีเพราะช่วยให้ผ่อนคลายและมีความสุขเมื่อได้กินของอร่อยที่ตัวเองชอบ รูปแบบความอยากอาหารที่เกิดขึ้นกับคนที่ชอบทำพฤติกรรมนี้ ก็จะไม่เหมือนกับความหิวทางกายภาพ หรือ Physical Hunger ที่เกิดกับร่างกายโดยทั่วไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลต่อความผิดปกติทางร่างกายในภายหลังได้
เช็คสัญญาณพฤติกรรมการกินด้วยอารมณ์
- กินเยอะเมื่อรู้สึกเครียด
- ไม่ได้หิวแต่ก็กิน
- กินเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
- ให้รางวัลตัวเองด้วยการกิน
- อิ่มแล้วก็ยังอยากกินต่อ
- อาหารเปรียบเสมือนเพื่อน ที่ทำให้รู้สึกสบายใจ
- อยู่ใกล้อาหารแล้วอดใจไม่ไหวต้องกิน
ในเมื่อการกินด้วยอารมณ์ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดภายในจิตใจ ถ้าหาวิธีจัดการกับความเครียดได้ ก็สามารถลดโอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมดังกล่าวได้เช่นกัน
วิธีคลายเครียดในระยะยาว
- พูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว การได้แบ่งปันปัญหาหรือระบายความรู้สึกกับคนที่เข้าใจ ช่วยลดความเครียดได้ดี บางครั้งการได้ฟังคำแนะนำหรือคำปลอบใจก็ทำให้เราสบายใจขึ้น
- หากิจกรรมที่ชอบทำนอกเวลางาน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ หรือทำงานฝีมือ จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดและช่วยสร้างพลังบวกให้กับตัวเองได้
- เขียนไดอารี่บันทึกอารมณ์ของตัวเอง จะช่วยให้เราสังเกตเห็นรูปแบบของอารมณ์และหาวิธีจัดการกับมันได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยลดความต้องการในการหันไปพึ่งอาหารเพื่อระบายอารมณ์ได้อีกด้วย
- ฝึกเทคนิคการหายใจหรือทำสมาธิ การหายใจลึกๆ หรือการทำสมาธิวันละ 5-10 นาที ช่วยให้จิตใจนิ่งขึ้น ลดความเครียดและทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
ขอขอบคุณที่มาจาก
Alljit