ปัจจุบันการทำงานมีความกดดันสูงและการแข่งขันสูง คนวัยทำงานหลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมหรือยังไม่ดีพอ ความรู้สึกนี้เรียกว่า "Imposter Syndrome" ซึ่งเป็นภาวะที่คนมักจะรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งหรือไม่สมควรได้รับความสำเร็จเหล่านั้น บทความนี้จะชวนมารู้จักอาการของ Imposter Syndrome และวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง และเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเองให้มากขึ้น
อาการเบื้องต้นของ Imposter Syndrome
- ขาดความมั่นใจ
- มีความนับถือในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem)
- ไม่สามารถประเมินความสามารถของตนเองได้
- คิดว่าความสำเร็จที่ตัวเองได้รับเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ
- ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
- ชอบพูดด้านลบเกี่ยวกับตัวเอง
- กลัวว่าจะทำได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง
- บ่อนทำลายความสำเร็จของตัวเอง
- สงสัยในตัวเอง (Self-Doubt)
- ชอบจมอยู่กับอดีต
- กลัวอนาคตอย่างไม่มีเหตุผล
วิธีรับมือกับ Imposter Syndrome
หากสำรวจแล้วพบว่าเรามีอาการดังกล่าว ลองนำคำแนะนำต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อรับมือกับความรู้สึกกัน
- ให้อภัยตัวเองหากทำผิดพลาดไป เปลี่ยนจากการกล่าวโทษตัวเอง เป็นการมองว่าเราได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วแทน
- รู้เท่าทันใจตัวเอง ยอมรับถ้ารู้ตัวว่ากำลังคิดในแง่ลบ ทบทวนว่าความคิดนั้นเกิดจากอะไร แล้วค่อยหาวิธีแก้ไข
- พูดคุยกับเพื่อน สอบถามเพื่อนสนิทอย่างตรงไปตรงมา หากกลัวว่าทำอะไรผิดไป ลองรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากเพื่อนบ้าง
- ภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง รู้จักชื่นชมตัวเองบ้าง และน้อมรับคำชมจากคนอื่นด้วยความภูมิใจ
- หาสิ่งที่ซัพพอร์ตจิตใจหรือเป็นที่พึ่งทางใจให้ตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือกิจกรรมอะไรก็ได้
- พยายามออกห่างจากคน หรือสังคมที่ส่งผลทางด้านลบต่อสุขภาพจิตของคุณ พยายามใช้เวลากับคนกลุ่มนี้ให้น้อยที่สุด
- ‘ความสำเร็จ’ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลและสังคม อย่าด้อยค่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เพียงเพราะความสำเร็จของคุณแตกต่างจากคนอื่น
- เปิดใจปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและใจของเราได้จนเกิดภาวะเครียดเรื้อรังหรือภาวะซึมเศร้าตามมา
ขอขอบคุณที่มาจาก
The Standard
ooca